วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

ผลงานอีบุ๊คใหม่ของนักเรียนไทย

ครั้งหนึ่งถูกคุณแม่อุบลเป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำอีบุ๊ค (e-book) เป็นงานชิ้นโบว์แดงก่อนสำเร็จการศึกษา ถามว่าลูกท่านจะสร้างอีบุ๊คต้องใช้โปรแกรมอะไร เมื่อผู้เขียนซักถามถึงรายละเอียดก็ได้คำตอบว่าไม่ทราบ จึงคาดว่าใช้ Acrobat Writer หรือ PDFCreator เพราะเป็นอีบุ๊คที่ได้รับความนิยม แต่ถ้าเป็นอีบุ๊คบนสมาร์ทโฟน (Smart Phone) หรือเครื่องปาร์ม (Palm) ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะหาอุปกรณ์มาใช้ทดสอบได้ ต่อมาทราบชื่อโปรแกรม และข้อมูลจาก ศน.สุทิน ศรวิจิตร์ ว่าโรงเรียนในไทยเริ่มใช้โปรแกรม Flip Publisher สอนนักเรียน มอบหมายให้สร้างอีบุ๊ค และให้เลือกหัวข้อตามความสนใจ เช่น โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กุล และโรงเรียนอนุบาลลำปาง ทำให้นักเรียนได้ค้นคว้า และมีผลงานที่สมบูรณ์เป็นที่ภาคภูมิใจ
อีบุ๊ค คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถถูกเปิดด้วยอุปกรณ์หลายประเภท เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือพีดีเอ (PDA) ในยุกแรกอีบุ๊คนิยมใช้โปรแกรม Acrobat ในการเขียน หรืออ่าน ปัจจุบันอีบุ๊คถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีโปรแกรมให้เลือกใช้มากมาย เช่น Acrobat, Flip Publisher, Desktop Author, Diji Album, Microsoft Reader, Palm, HTML Help Workshop หรือ Plakat e-Book เป็นต้น แฟ้มอีบุ๊คแต่ละประเภทถูกเปิดด้วยโปรแกรมเฉพาะของตน เช่น แฟ้มสกุล .doc ต้องใช้โปรแกรม Microsoft Word หรือแฟ้มสกุล .pdf ต้องใช้โปรแกรม Acrobat Reader หรือแฟ้มสกุล .opf ต้องใช้ Flip Viewer หรือแฟ้มสกุล .dnl ต้องใช้ DeskTop Author
จุดเด่นของ Flip Publisher มีมากมาย ทำให้นักเรียนสร้างอีบุ๊คได้อย่างสมบูรณ์ และสนุกกับความเหมือนจริง โดยรวบรวมข้อมูลแล้วจัดทำเป็นรูปเล่มแบบสื่อผสมทั้งภาพ เสียง และวีดีโอ แล้วนำไปเผยแพร่ในเครื่องบริการเว็บของโรงเรียน เขียนลงในซีดี แล้วนำไปเปิดในเครื่องอื่นได้ง่าย ผลงานที่ได้เสมือนหนังสือ มีความสวยงามแบบสามมิติ เช่น พลิกหน้าเหมือนหนังสือทีละแผ่น การเลือกตามบุ๊คมาร์ค การเลือกพลิกอัตโนมัติ พิมพ์หนังสือออกทางเครื่องพิมพ์ ผลงานแยกเป็นกลุ่มแฟ้มต้นฉบับที่นำกลับมาแก้ไขได้ และกลุ่มแฟ้มนำเสนอที่อ่านได้อย่างเดียว
ถ้ามองโลกในแง่ดีอีบุ๊คอาจช่วยแก้ปัญหาเยาวชนอ่านหนังสือน้อย ช่วยรณรงค์ให้เยาวชนรักการอ่าน เพราะการส่งเสริมให้เยาวชนสร้างอีบุ๊ค ทำให้ต้องค้นคว้าข้อมูล อ่านหนังสือเพิ่มเติม ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ แล้วฝึกทักษะการเขียนลงหนังสือเสมือนจริง เมื่อนำหนังสือไปเผยแพร่จะทำให้เยาวชนให้การยอมรับหนังสือที่ถูกเขียนโดยเยาวชนด้วยกันง่ายขึ้น เพราะเยาวชนบางคนอาจไม่ชอบหนังสือในโลกแห่งความเป็นจริงที่เขียนโดยนักวิชาการ แต่อาจชอบหนังสือในโลกเสมือนจริงก็ได้ การนำหนังสือเข้าไปหาเยาวชนเป็นมาตรการเชิงรุก แต่ถ้ารอให้เยาวชนหยิบหนังสือมาอ่านเองแบบเชิงรับอาจต้องใช้เวลารณรงค์อีกนานกว่าปัญหาเยาวชนอ่านหนังสือน้อยจะหมดไป

เว็บไซต์เปรียบเสมือนเรือใบ

เรือใบที่แล่นไปในทะเลย่อมมีกัปตันเป็นผู้นำในการควบคุมเรือให้แล่นไปตามเป้าหมาย มีลูกเรือ และผู้โดยสารเป็นองค์ประกอบ มีคลื่นลมเป็นอุปสรรค์ที่จะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ทุกคนในเรือล้วนมีเป้าหมายที่สอดรับค้ำจุนซึ่งกันและกัน บางคนอาจทำอาหาร ลงอวนหาปลามาเป็นอาหาร คุมใบเรือ คุมหางเสือ คุมสมอ ต้นหนส่องกล้องดูทางระวังภูเขาน้ำแข็งอย่างเรื่องไททานิก ผู้โดยสารที่จ่ายค่าเดินทางเป็นทุนสำหรับเสบียงและจัดหากะลาสีมาทำงานตามภารกิจก่อนการออกเดินทางตามเป้าหมาย
เว็บไซต์บางแห่งมีกัปตันทำหน้าที่ทุกอย่างเพียงคนเดียว เพราะไม่มีงบประมาณไปจ้างใครมาช่วยดูแล หากมีใครถามว่าเว็บไซต์ใดในประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือก็คงตอบว่าเว็บไซต์ของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจน่าเชื่อถือที่สุด เพราะถ้าขาดทุนก็จะมีงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชนเข้าไปสนับสนุน ถ้าเป็นเอกชนย่อมมีความเสี่ยง เพราะถ้าขาดทุนก็อาจต้องปิดกิจการอย่างกระทันหัน มีผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้งมากมายปิดบริการโดยไม่รับผิดชอบต่อผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับลูกค้า
ผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือจะคิดค่าบริการในอัตราที่สูง ถ้าคิดค่าบริการตั้งแต่ 3,000 บาทต่อปีขึ้นไปสำหรับบริการเว็บโฮสติ้งก็นับว่าสูงมาก เพราะในต่างประเทศคิดค่าบริการเพียง 1,600 บาทต่อปีก็ได้พื้นที่หลายกิกะไบท์แล้ว อัตราค่าบริการและความน่าเชื่อถือมีความสัมพันธ์กันบนความสมเหตุสมผล เพราะต้องนำเงินที่ได้ไปจ้างพนักงานคอยดูแลระบบ ไปเช่าเครื่องบริการ ขยายแบนวิด (Bandwidth) ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และจ่ายผลตอบแทนสำหรับผู้ร่วมลงทุน ถ้าเดือนหนึ่งมีรายได้มากกว่ารายจ่ายไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็คงทำธุรกิจนี้ต่อไม่ได้ เพราะนักคอมพิวเตอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับเว็บโฮสติ้งตามองค์กรมีรายได้มากกว่าหมื่นบาทต่อเดือนอยู่แล้ว ถ้าต้องลงทุนเองและได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเป็นพนักงานองค์กรก็คงไม่มีใครทำ ยกเว้นว่าทำด้วยใจรักและมีความสุขกับการเป็นผู้เสียสละ
เว็บไซต์ก็เปรียบเสมือนเรือใบที่มีองค์ประกอบมากมาย มีผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล ดูแลระบบสมาชิก ดูแลงานด้านกราฟฟิก ดูแลด้านความปลอดภัย คอยจัดการกับการถูกบุกรุกด้วยวิธีการใหม่ ปรับเว็บไซต์ให้ทันสมัยตามเทคโนโลยีที่มาใหม่ตลอดเวลา มีพนักงานการตลาดหารายได้จากการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จัก มีฝ่ายบัญชีการเงินที่เชื่อถือได้ มีหุ้นส่วนที่เข้าใจไว้ใจและรับผิดชอบแทนได้ มีระบบสำรองข้อมูลในกรณีระบบล่ม มีภูมิคุ้มกันในกรณีบุคลากรเปลี่ยนงานก็จะต้องไม่เกิดผลเสียหายร้ายแรง แต่ถ้างานทุกอย่างข้างต้นทำโดยคนเพียงคนเดียวก็จะสมบูรณ์น้อยกว่าการทำงานโดยกลุ่มทีมงาน นั่นคือข้อแตกต่างของค่าบริการเว็บโฮสติ้งในประเทศไทยที่เริ่มจากปีละ 900 บาทไปถึงปีละ 9,000 บาท ถ้าเป็นท่านจะเลือกใช้บริการแบบใดระหว่างแบบถูกเหลือเชื่อกับแพงหูฉี่ เพื่อการมีเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สังคม